Monday, October 30, 2017

ฮือฮา นาซาพบวัตถุลึกลับนอกระบบสุริยะอันไกลโพ้น โผล่มาให้เห็นเป็นครั้งแรก




        นาซาพบวัตถุลึกลับ เป็นวัตถุระหว่างดาวจากนอกระบบสุริยะ เคลื่อนที่ผ่านมาให้เห็นเป็นครั้งแรก รายงานเผย เคลื่อนที่เร็วมาก และวงโคจรต่างจากดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อยอื่น ๆ ที่เคยค้นพบมาในระบบสุริยะ

         ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 นักดาราศาสตร์พบว่ามีแขกแวะมาเยี่ยมเยียนระบบสุริยะ โดยมันแวะผ่านมาในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนจะเคลื่อนที่ผ่านไป วัตถุที่ว่านี้ไม่ใช่เอเลี่ยนหรือมนุษย์ต่างดาวที่ชาวโลกหลาย ๆ คนเฝ้ารอ แต่มันเป็นมีลักษณะคล้ายดาวหาง (Comet) หรือดาวเคราะห์น้อย (Asteroid) ขนาดเล็ก ที่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับแขกรายนี้ก็คือ มันเป็นวัตถุระหว่างดาว (Interstellar) ชิ้นแรกที่ถูกพบและยืนยันอย่างเป็นทางการ

         จากการรายงานของเว็บไซต์ไซแอนซ์แมก เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2560 ระบุว่า วัตถุดังกล่าวนี้ถูกค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์ Pan-STARRS 1 (The Panoramic Survey Telescope and Rapid Response System) ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาไฟฮาเลอาคา บนเกาะเมาอิ รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา โดย ร็อบ เวริค นักดาราศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยฮาวาย คือคนแรกที่ตรวจจับวัตถุนี้ได้ ซึ่งกล้องโทรทรรศน์ของสถาบันอวกาศยุโรปที่หมู่เกาะคานารีก็ยืนยันว่าค้นพบเช่นกัน

         วัตถุดังกล่าวถูกตั้งชื่อว่า A/2017 U1 มันมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 400 เมตร เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อวินาที มันได้สร้างความตื่นเต้นและฮือฮาในหมู่นักดาราศาสตร์อย่างมาก เนื่องจากวงโคจรของมันไม่เหมือนกับดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยอื่น ๆ ที่เคยค้นพบมาก่อนในระบบสุริยะ

  
        ดาวิเด ฟาร์น็อคเคีย นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านวงโคจร ประจำศูนย์ปฏิบัติการจรวดขับดันของนาซา หรือเจพีเอล (JPL - Jet Propulsion Laboratory) กล่าวว่า "นี่คือวงโคจรที่แปลกที่สุดเท่าที่ผมเคยพบเคยเห็นมา มันเคลื่อนที่เร็วมาก ๆ และเมื่อดูจากแนววิถีของมันแล้ว เราพูดได้อย่างมั่นใจเลยว่า มันจะผ่านมาแล้วผ่านไป ไม่หวนกลับมาอีก และมันไม่ใช่วัตถุที่มีในระบบสุริยะอย่างแน่นอน"

         เมื่อวิเคราะห์ดูแนววิถีของแขกผู้มาเยือนนี้ นักดาราศาสตร์คาดว่ามันน่าจะมาจากกลุ่มดาวไลรา (Lyra) ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปไกลโพ้น ตั้งฉากอยู่ด้านบนของระบบสุริยะ โดยเมื่อวัตถุนี้มาถึงระบบสุริยะ แรงดึงดูดของดวงอาทิตย์ดึงมันเข้าหา และเข้าใกล้ที่สุดในวันที่ 9 กันยายน ก่อนจะเคลื่อนตัวลงไปด้านล่างของระบบสุริยะ และเคลื่อนกลับขึ้นมาอีกครั้ง เฉียดผ่านใกล้โลกที่สุดในวันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งมีระยะห่างประมาณ 60 เท่าของระยะห่างจากดวงจันทร์ถึงโลก หลังจากนั้นก็หลุดออกจากวงโคจร เคลื่อนผ่านระบบสุริยะไป เพิ่มความเร็วเป็น 44 กิโลเมตรต่อวินาที และมุ่งหน้าสู่กลุ่มดาวเปกาซัส

         ทั้งนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่พบว่า มีวัตถุระหว่างดาวนอกระบบสุริยะอยู่จริง แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่วัตถุดังกล่าวนั้นเคลื่อนผ่านมาให้เห็น โดยนักวิทยาศาสตร์คาดเดาว่าวัตถุแบบนี้เกิดขึ้นจากกระบวนการก่อตัวของดวงดาว และมันก็เคลื่อนที่ไปทั่วกาแล็กซี ดังนั้นการสำรวจและการค้นหาวัตุเหล่านี้ให้มากขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ นอกจากนี้แล้ว วัตถุที่มาเยือนนี้สมควรได้รับการตั้งชื่อ มันควรได้รับการศึกษาวิเคราะห์ เพราะหากกฎของมัน ซึ่งแตกต่างจากกฎของระบบสุริยะ และไม่เคยได้รับการตั้งชื่อมาก่อน

         "เราสงสัยกันมานานแล้วว่าวัตถุแบบนี้มันต้องมีอยู่ เพราะในกระบวนการก่อตัวของดวงดาวแต่ละครั้ง มันย่อมมีวัตถุกระเด็นออกไป ที่น่าประหลาดใจก็คือ เราไม่เคยพบวัตถุระหว่างดวงดาวผ่านมาให้เห็นแบบนี้มาก่อนเลย" คาเรน มีช นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุนอกอวกาศขนาดเล็กและความเชื่อมโยงของระบบสุริยะ จากสถาบันดาราศาสตร์โฮโนลูลู กล่าว

ภาพจาก NASA
https://hilight.kapook.com/view/162782

No comments:

Post a Comment